Categories

Sunday, December 11, 2016

Guitar Finishing : Oil Finish


“Oil Finish” 


          Oil Finish คือการใช้น้ำมันเคลือบผิวกีตาร์ ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยน้ำมันที่นำมาใช้ก็มีหลากหลายประเภท เช่น Tung oil, Linseed oil, Danish oil หรือ Teak oil เป็นต้น สำหรับวิธีการก็สามารถทำได้ทั้งการใช้ลูกประคบ หรือใช้แปรงทาก็ได้ สำหรับ Oil Finish นั้นพื้นฐานจริงๆคือการใช้น้ำมันเคลือบเป็นหลัก แต่อาจจะมีการผสมวัสดุชนิดอื่นๆลงไปในระหว่างการทำด้วยก็ได้ เช่น Nitrocellulose lacquer หรือ Polyurethane


Boiled linseed oil finish with French polish technique  :)


          ทั้งนี้ในปัจจุบันการเคลือบผิวด้วยน้ำมันนั้นไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากผิวที่เคลือบจะค่อนข้างบาง และง่ายต่อการสึกหรอ และยังจำเป็นต้องทำซ้ำเรื่อยๆ แต่ยังคงพบเห็นได้บ่อยในกีตาร์เบสไฟฟ้า หรือช่างทำกีตาร์บางคนก็ยังนิยมนำไปใช้เคลือบคอกีตาร์ไฟฟ้า หรือเคลือบทั้งตัวก็มีให้เห็นเช่นกัน เนื่องจาก Oil Finish จะให้ผิวสัมผัสที่เสมือนไม้จริง ความรู้สึกในการเล่นก็จะ smooth ไม่ฝืดเหมือนการเคลือบชนิดอื่นๆ



Guitar Finishing : Polyurethane


“Polyurethane” 


          โพลียูรีเทน เป็นอีกหนึ่งวิธีการเคลือบผิวที่ใช้ในอุตสาหกรรมการทำกีตาร์ทั่วไป โดยเฉพาะกีตาร์ไฟฟ้าและกีตาร์ Acoustic ที่ราคาไม่สูงนัก ด้วยเหตุผลที่การเคลือบด้วยวิธีนี้มีต้นทุนค่าแรงค่อนข้างต่ำ เพราะสามารถทำได้สะดวกรวดเร็ว ได้เนื้อสัมผัสที่แข็งซึ่งทนทานต่อรอยขีดข่วน ดังนั้นโพลียูรีเทนจึงเป็นที่นิยมกันมาก แม้แต่ช่างทำกีตาร์แฮนด์เมดบางคนก็ดึงเอาจุดเด่นของโพลียูรีเทนในเรื่องของความแข็งแรงทนทานมาใช้ในการเคลือบเฉพาะส่วนคอของกีตาร์ เพื่อให้ทนต่อการสึกหรอได้ดียิ่งขึ้น 


Sloughing : one of the problem from Poly finish  :(


          แต่ข้อดีของโพลียูรีเทนก็ถือเป็นข้อเสียใหญ่เช่นกัน ด้วยความที่ชั้นเคลือบค่อนข้างแข็งและหนามาก ช่างทำกีตาร์แฮนด์เมดส่วนใหญ่จึงหลีกเลี่ยงวิธีนี้ เพราะโพลียูรีเทนจะซับเสียง ทำให้ไม้สั่นสะเทือนได้ยากและไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น มากไปกว่านั้นโพลียูรีเทนยังไม่สามารถซึมเข้าไปในเนื้อไม้ได้เหมือนการเคลือบด้วยวิธีอื่นๆ เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ ชั้นฟิล์มหนาๆที่เคลือบทับผิวไม้เอาไว้จึงเกิดการหลุดลอก แลดูคล้ายกีตาร์ที่ขึ้นฝ้า หรือบางครั้งก็ล่อนออกมาเป็นแผ่นๆทีเดียว โดยเฉพาะในกีตาร์ Acoustic ที่ความชื้นสามารถผ่านเข้าออกได้ง่ายๆ นอกจากนี้กีตาร์ที่เคลือบด้วยโพลียูรีเทนเมื่อเกิดการสึกหรอ หลุดล่อนไปแล้ว จะซ่อมแซมให้เหมือนเดิมก็ลำบากเต็มที ดังนั้นอย่างที่กล่าวที่กล่าวไว้ข้างต้น จะเลือกวิธีการเคลือบแบบไหน ก็ดูให้เหมาะสมกับความต้องการและการใช้งานเป็นหลักนะครับ




Guitar Finishing : Varnish Finishing


“Varnish Finishing”


          Varnish เป็นวิธีการเคลือบผิวที่นิยมทำกันมาแต่โบราณ ปกติแล้วจะนิยมใช้กับเครื่องดนตรีตระกูลไวโอลิน โดยการเคลือบผิวแบบ Varnish จะมีส่วนผสมที่เป็นสูตรลับเฉพาะขึ้นอยู่กับช่างแต่ละคน ที่นิยมใช้กันก็จะมีทั้งเชลแลค ยางสน น้ำมัน Linseed น้ำมันวอลนัท หรือแอลกอฮอล์ เป็นต้น สำหรับวิธีการทำนั้นก็ขึ้นอยู่กับความถนัด จะใช้แปรงทา หรือใช้ลูกประคบเหมือน French Polish ก็ได้เช่นกัน



Apply my own varnish recipe by brush  :)

          ถึงแม้ว่าวิธีนี้จะไม่ค่อยได้รับความนิยมในหมู่ช่างทำกีตาร์ซักเท่าไหร่ แต่ก็เป็นวิธีที่ผมเลือกใช้เป็นหลักสำหรับกีตาร์ที่ผมทำครับ เนื่องจากการทำ Varnish นั้นจะทำให้ได้ลักษณะเสียงและรูปลักษณ์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือผิวสัมผัสที่เป็นธรรมชาติ คล้ายคลึงกับไม้ที่ไม่ได้ผ่านการเคลือบผิวแต่อย่างใด เสียงที่คล้ายกับการทำ French Polish และความทนทานต่อรอยขีดข่วน รวมทั้งอุณหภูมิและความชื้นก็จะคล้ายกับการใช้ไนโตรเซลลูโลสแลคเกอร์ครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในการทำ Varnish จะต้องอาศัยทักษะและความชำนาญ รวมทั้งความอดทนด้วย เพราะเมื่อเทียบกับการเคลือบผิวในแบบอื่นๆ Varnish จะใช้ระยะเวลาในการทำนานกว่า เนื่องจากการเคลือบผิวแบบนี้จะแห้งช้ามาก กว่าที่เสียงกีตาร์จะเปิดก็กินเวลาค่อนข้างนานทีเดียว แต่ผลลัพธ์ของมัน ทั้งความสวยงามและเสียงที่ได้ การันตีว่าคุ้มค่าการรอคอยจริงๆครับ




Guitar Finishing : Nitrocellulose lacquer


“Nitrocellulose lacquer”


          ไนโตรเซลลูโลส แลคเกอร์ เป็นอีกหนึ่งวิธีการเคลือบสีที่ใช้ทินเนอร์เป็นตัวทำละลาย ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆในแวดวงการทำกีตาร์ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานเล็กหรือใหญ่ จะมีชื่อเสียงมากน้อยแค่ไหน หรือแม้กระทั่งช่างทำกีตาร์แฮนด์เมด



Spray Gun for both Nitro and Poly finishes


          โดยแลคเกอร์ชนิดนี้เกิดจากการผสมผสานระหว่างไนโตรเซลลูโลส บวกด้วยเรซินตามสูตรของแต่ละยี่ห้อ และเจ้าไนโตรเซลลูโลสที่ว่านั้นก็คือแลคเกอร์ที่ใช้ทาเฟอร์นิเจอร์ทั่วไปซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายวัสดุก่อสร้าง วิธีใช้ก็จะมีทั้งการใช้กาพ่นสีแบบที่เราจะเห็นได้ตามอู่ซ่อมรถยนต์ หรือจะใช้แปรงทาเคลือบเอาก็ได้ตามแต่สะดวก ส่วนรูปร่างหน้าตาที่ออกมาภายหลังจากเคลือบเสร็จก็ดูไม่ต่างจากการทำ French Polish มากนัก แถมประหยัดเวลากว่าด้วย ช่างทำกีตาร์หลายคนจึงยังคงเลือกที่จะใช้วิธีนี้กัน ส่วนกีตาร์ที่ผลิตจากโรงงานก็จะใช้แลคเกอร์เคลือบในรุ่นที่มีราคาสูงหน่อย เนื่องจากว่าการพ่นแต่ละครั้งความหนาของเนื้อสีจะค่อนข้างบาง ไม่ดูหนาเตอะแบบการใช้ยูริเทน แต่ก็ยังไม่บางเท่า French Polish ที่ใช้เชลแลคในการเคลือบ สำหรับผลลัพธ์เรื่องเสียงนั้นจะดีมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับความหนาของการเคลือบในแต่ละชั้นนี่เอง

          การเคลือบด้วยไนโตรเซลลูโลสแลคเกอร์นั้นนอกจากจะใช้ระยะเวลาในการทำไม่มากแล้ว ยังมีข้อดีในเรื่องความแข็งของผิว ช่วยให้กีตาร์ทนทานต่อการขีดข่วนได้ดีในระดับหนึ่ง รวมถึงอุณหภูมิและสภาพความชื้นด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการใช้แลคเกอร์จะต้องทำในที่ที่มีการระบายและถ่ายเทอากาศได้ดี เพราะกระบวนการทำและสารที่นำมาใช้นั้นก่อให้เกิดมลพิษในอากาศ ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซักเท่าไหร่ ไนโตรเซลลูโลสแลคเกอร์จึงถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อมในบางรัฐของสหรัฐอเมริกา และบางประเทศในยุโรป



Guitar Finishing : French Polish




"French Polish"


Shellac + Ethyl Alcohol 99.8%


          French Polish คือเทคนิคการเคลือบผิวไม้โดยใช้ muñeca (ลูกประคบที่ทำขึ้นมาพิเศษ อาจจะทำขึ้นจากผ้าคอตตอน นุ่น สำลี สักหลาด หรือลินิน ตามความถนัดของแต่ละบุคคล) ร่วมกับเชลแลค Mineral Oil และ Pumice (หินภูเขาไฟ) โดยวิธีการคือเราจะใช้ muñeca คลึงที่พื้นผิวซ้ำไปซ้ำมาจนขึ้นเงา และเกิดเป็นชั้นฟิล์มบางๆ ซึ่งลักษณะการทำเช่นนี้จะช่วยขับลายไม้ให้โดดเด่นยิ่งขึ้น ยิ่งถ้าช่างทำมีทักษะ ประสบการณ์และเชี่ยวชาญมากพอ พื้นผิว สีของไม้ ความมันเงาก็จะยิ่งเด่นชัด


French Polishing with muñeca


          ทั้งนี้แผ่นฟิล์มแต่ละชั้นที่เคลือบนั้นเมื่อแห้งสนิทแล้ว แม้จะค่อนข้างบาง แต่ก็มีความยืดหยุ่นสูง ทำให้ Soundboard สั่นสะเทือนได้อย่างอิสระ เสียงที่ออกมาจึงเด่นชัดและเป็นธรรมชาติมากทีเดียว นอกเหนือไปจากเรื่องความสวยงามและเสียงที่ได้แล้ว ข้อได้เปรียบอีกอย่างของ French Polish คือเราสามารถซ่อมแซมหรือเคลือบทับได้ตลอดโดยไม่จำเป็นต้องขัดชั้นสีเก่าออก และความบางของชั้นเคลือบนั้นก็ทำให้ไม้กีตาร์ยังสามารถหายใจได้อยู่ การพัฒนาของเสียงจึงเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว โดยปกติแล้วการเคลือบผิวไม้ด้วยวิธีนี้จำเป็นต้องใช้ระยะเวลายาวนาน อาจจะนานถึงหลายเดือน แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็สร้างความพึงพอใจได้อย่างคุ้มค่า เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นวิธีการเคลือบผิวไม้แบบ French Polish ได้ในเฉพาะกีตาร์แฮนด์เมดเท่านั้น แต่เมื่อมีข้อดีก็ต้องมีข้อเสีย เพราะความบางของการเคลือบแบบ French Polish แม้จะดีต่อเสียงแค่ไหน แต่ก็ไม่ค่อยจะทนต่อการขีดข่วน อุณหภูมิและสภาพความชื้นที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วซักเท่าไหร่ ดังนั้นเราจึงควรเลือกวิธีการเคลือบที่เหมาะสมกับการใช้งานเป็นสำคัญ



Friday, December 2, 2016

การผ่าไม้ทำ Bracing โดยใช้มีด




          ทำไมใช้มีด ไม่ใช้เลื่อยล่ะ ??

          คงจะเป็นคำถามที่ผมเจอบ่อยที่สุดแล้วมั้งครับถ้าใครบังเอิญมาเห็นผมผ่าไม้ด้วยมีดแบบนี้ เพราะถ้าใช้เลื่อยก็จะประหยัดเวลาแถมยังประหยัดต้นทุนอีกด้วย

          แต่เชื่อเถอะครับว่าวิธีนี้มีข้อดีมากพอให้ผมเลือกใช้แบบไม่ลังเลเลย






           จริงอยู่ที่การผ่าไม้ด้วยเลื่อยจะทำให้ได้ชิ้นไม้ที่สวยงาม แถมยังเป็นการใช้ไม้ทั้งท่อนได้อย่างคุ้มค่า และ Bracing นั้นก็เป็นชิ้นส่วนที่อยู่ด้านในกีตาร์ หลายคนจึงมองข้ามมันไป ทั้งๆที่ Bracing ถือเป็นหัวใจสำคัญเลยทีเดียวที่จะทำให้กีตาร์นั้นออกมาเสียงดี แต่รู้มั้ยครับว่าการผ่าไม้โดยวิธีการ split ที่ผมทำอยู่นี้ ไม่ว่าจะด้วยมีดหรือของมีคมชนิดอื่นๆ เช่นขวาน จะทำให้เราได้ไม้ที่ใช้ทำ Bracing ซึ่งมีค่าความแข็งแรงต่อสัดส่วนน้ำหนักที่ดีที่สุด พูดง่ายๆก็คือในไม้ที่มีน้ำหนักเท่ากัน ไม้ที่ split จะมีความแข็งแรง และยังสามารถรับแรงได้ดีกว่า อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นสูง จึงให้ผลลัพธ์ในเรื่องเสียงที่ดียิ่งกว่าไม้ที่ผ่าด้วยเลื่อยครับ





           โดยรอยผ่าที่เกิดขึ้นจากการ split นั้นจะวิ่งไปตามลักษณะลายไม้ วิธีนี้จะเป็นการกำจัดการ runout ของลายไม้ซึ่งเป็นจุดอ่อนในเรื่องของความแข็งแรงที่เกิดขึ้นจากการใช้เลื่อย ดังนั้นในบางครั้งเราอาจจะต้องยอมเสียต้นทุนของไม้ในส่วนที่ขาดแหว่งไปใน ปริมาณมากทีเดียว เช่นไม้ในรูปอาจจะใช้ทำ bracing กีตาร์คลาสสิคได้ถึง 10 ตัวหากใช้เลื่อยผ่า แต่เมื่อใช้วิธี split แล้วอาจเหลือไม้พอทำได้แค่ 2 ตัวเท่านั้นเอง ยิ่งไปกว่านั้นการ split ยังต้องใช้เวลามากด้วย เนื่องจากต้องไสปรับผิวให้เรียบเสียก่อนจึงจะนำไปใช้ได้ ไม่เหมือนกับการใช้เลื่อย ดังนั้นกว่าจะมาเป็นกีตาร์แฮนด์เมดดีดีซักตัวจึงต้องอาศัยความอดทนในการรอคอยครับ




TJ Luthier in "กระบี่หกสาย ตอน กำเนิดกีตาร์"


กระบี่หกสาย : EP5 "กำเนิดกีตาร์"
ช่างเอ็ม ทศพล จันทโรทัย



Credit : BANANA THAI TV


TJ Luthier ในรายการกระบี่หกสาย โดยอาจารย์โน้ต และน้องนภครับ :)



Thursday, December 1, 2016

Tosapon Jantarothai "Custom Strat"


Tosapon Jantarothai "Custom Strat"





Tosapon Jantarothai "The Kasha Model"


Tosapon Jantarothai "The Kasha Model"






Concert Model "The Top of the Line"


Tosapon Jantarothai Concert Model
"The Top of the Line"




Coresong : How are You "เอ็ม ทศพล ช่างทำกีตาร์"



Coresong: How are You
"เอ็ม ทศพล ช่างทำกีตาร์"




Credit : Coresong TV Youtube Channel

          TJ Luthier ให้สัมภาษณ์รายการ CoreSong ออกอากาศทางช่อง MCOT ครับ ขอขอบคุณพี่แว่น พี่ดี้ น้าใหญ่ พี่ขุน 4 สุดยอดนักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์แนวหน้าของเมืองไทย รวมไปถึงทีมงานทุกท่านด้วยนะครับ สำหรับโอกาสดีดีในครั้งนี้ :)




TJ Luthier in a day Magazine




"TJ Luthier in a day magazine"




   


          บทสัมภาษณ์ผมใน a day magazine online ครับ ขอขอบคุณทีมงาน a day ทุกท่านอีกครั้งนะครับ เป็นครั้งแรกจริงๆที่ได้พูดเรื่องตัวเองเยอะขนาดนี้ หวังว่าบทสัมภาษณ์นี้คงจะทำให้เราได้รู้จักกันมากขึ้นนะครับ :)