Categories

Wednesday, November 30, 2016

Soundboard : Mahogany & Koa


"Mahogany"


          ไม้มะฮอกกานีนั้นนิยมนำมาใช้ทำเครื่องดนตรีตั้งแต่ยุคสมัยโบราณ ด้วยคุณสมบัติของไม้ที่มีความแข็งปานกลาง มีความเสถียรต่อสภาวะอากาศ จึงเป็นหนึ่งในไม้อันดับต้นๆที่ช่างทำเครื่องดนตรีนิยมนำมาใช้ทำโครงสร้างและบอดี้ เช่นเปียโน หรือกีตาร์ จนเริ่มนำมาใช้ทำ Soundboard ของกีตาร์อย่างจริงจังราวปี 1920

          คนส่วนใหญ่เชื่อว่าไม้เนื้อแข็งนั้นจะสามารถตอบสนองต่อเสียงได้ดีกว่า แต่ความจริงแล้วเมื่อใช้มะฮอกกานีซึ่งมีความแข็งปานกลางมาทำ soundboard การตอบสนองของเสียงนั้นจะกลับด้อยกว่าเมื่อเทียบกับไม้หน้าชนิดอื่นที่เป็นไม้เนื้ออ่อน เนื่องจากรูปแบบการทำงานของไม้หน้านั้นจะต้องการความยืดหยุ่นในการบิดตัวสูง แต่ทั้งนี้คุณสมบัติของมะฮอกกานีนั้นจะตอบสนองต่อย่านเสียงสูงได้ดี ให้เสียงค่อนข้างแข็ง และกระชับ มีพลังดีดตัวของเสียงที่ดี มีโอเวอร์โทนต่ำ (ส่วนใหญ่เมื่อนำมะฮอกกานีมาใช้ทำ Soundboard แล้ว ก็จะนิยมจับคู่มาทำไม้ข้างและไม้หลังเช่นกัน) และด้วยเหตุผลในเรื่องเสียงดังกล่าวนี้เอง กีตาร์ที่ทำจากไม้มะฮอกกานีจึงได้รับความนิยมในหมู่นักดนตรีสไตล์ Country และ Blues


______________________________________


"Koa (Acacia)"



"Flame Hawaiian Koa Top"


           ไม้โคอะที่นิยมนำมาใช้ทำเครื่องดนตรีในยุคแรกๆนั้นมีต้นกำเนิดจากฮาวาย โดยมีคุณสมบัติเด่นที่สีสันและลวดลายอันสวยงามแปลกตา ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ไม้โคอะที่มาจากฮาวายมีราคาสูง เป็นที่ต้องการอย่างมาก จนกระทั่งปัจจุบันนี้หาแทบไม่มีแล้ว จึงได้มีการเสาะหาไม้ชนิดนี้จากแหล่งอื่นมาทดแทน โดยเฉพาะในแถบอเมริกา ทั้งนี้คุณสมบัติของไม้โคอะจะมีความใกล้เคียงกับไม้มะฮอกกานี



Soundboard : Red Wood


"Red Wood"


         Red Wood เป็นไม้ที่ผมชอบมากที่สุด ด้วยเหตุผลที่ว่าคุณสมบัติของไม้ชนิดนี้เหมือนรวมเอาข้อดีของทั้ง Spruce และ Cedar เข้าไว้ด้วยกัน นั่นก็คือพลังเสียงและโน้ตที่แข็งแรง ความเสถียรต่อสภาพความชื้น เหมือนกับ Cedar แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีความหวาน หัวโน้ตที่คมชัด และ Overtone ที่ดีเหมือน Spruce ดังนั้นเมื่อนำมาทำ Soundboard โทนเสียงที่ได้จึงเหมือนอยู่กึ่งกลางระหว่าง Spruce และ Cedar


"Red Wood Top" 


         แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อเทียบกับไม้ 2 ชนิดนี้แล้วก็ยังได้รับความนิยมน้อยกว่า เนื่องจากเป็นไม้เนื้ออ่อนมาก จะแตกและเป็นรอยง่ายสุดๆในระหว่างการทำ ดังนั้นทุกครั้งที่ผมเลือกไม้ชนิดนี้มาทำ Soundboard จึงต้องใช้ความระมัดระวังและพิถีพิถันมากๆ (หากนึกไม่ออกว่าไม้ชนิดนี้บอบบางอย่างไร ให้นึกถึงไม้บัลซ่าที่ใช้ทำโมเดลบ้าน ซึ่งมีขายตามร้านเครื่องเขียนทั่วไปครับ)


"The Kasha Guitar with Red Wood Top"
         

         โดย Dr.Kasha นักฟิสิกส์ผู้คิดค้นกีตาร์ “Kasha” (กีตาร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยใช้หลักฟิสิกส์การทำงานของคลื่นเสียง) ได้เลือกเอา Red Wood มาใช้ทำกีตาร์ ด้วยเหตุผลที่ไม้ชนิดนี้มีสัดส่วนความแข็งแรงต่อน้ำหนักดีที่สุด (Strength per weight ratio) และด้วยน้ำหนักที่เบา ทำให้ Soundboard ที่ได้นั้นสามารถสั่นสะเทือนได้ดี และยังให้ช่วงเสียงที่กว้างขึ้น ผู้เล่นจึงสามารถคุมโทนเสียงได้อย่างใจ สำหรับโทนสีของไม้ชนิดนี้จะมีสีน้ำตาลแดงเข้มอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวนั่น เอง

         Boaz Elkayam อาจารย์สอนทำกีตาร์ของผมเอง ก็เป็นผู้ที่ร่วมวิจัยและพัฒนากีตาร์ Kasha ทำงานคลุกคลีร่วมกับ Dr.Kasha มาตั้งแต่ต้น จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ผมรู้สึกผูกพันและชอบไม้ชนิดนี้เป็นพิเศษครับ



Soundboard : Western Red Cedar


"Western Red Cedar"



"Western Red Cedar Top"


          Western Red Cedar เป็น ไม้เนื้ออ่อน มีต้นกำเนิดในแถบอเมริกาและแคนาดา และยังเป็นไม้ที่ได้รับความนิยมในหมู่นักเล่นกีตาร์คลาสสิค หรือแม้แต่กีตาร์สายเหล็กแนวต่างๆ เทียบเท่ากับ Spruce โดยมี Jose Ramirez III (1922-1995) (Ramirez คือหนึ่งในตระกูลช่างทำกีตาร์อันดับต้นๆในสเปน) เป็นผู้บุกเบิกนำไม้ชนิดนี้มาใช้ทำกีตาร์จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

          ถึงแม้ว่าในยุคนั้นคนส่วนใหญ่จะยังค่อนข้างยึดติดกับ European Spruce แต่ไม้ชนิดนี้ก็ได้รับการยอมรับจากนักเล่นกีตาร์เป็นอย่างมาก เพราะโทนเสียงที่ได้จากไม้ชนิดนี้นั้นมีความทรงพลัง รองรับการเล่นในระดับคอนเสิร์ตได้ดีไม่แพ้ European Spruce ทีเดียว

          หากเทียบกับ Spruce แล้ว Red Cedar อาจจะไม่แข็งแรงหรือยืดหยุ่นเท่า แต่มีข้อดีคือไม้ชนิดนี้เมื่อนำมาทำ Soundboard จะมีความเสถียรต่อสภาพความชื้นในอากาศที่เปลี่ยนแปลง เพราะปกติแล้วถ้าความชื้นในอากาศสูง เสียงที่ได้จาก Spruce จะทึบและอู้ ในขณะที่ความชื้นนั้นแทบไม่มีผลอะไรกับ Red Cedar เลย มากไปกว่านั้นหลายคนที่ชอบ Red Cedar ก็ด้วยเหตุผลในเรื่องของโทนสี ซึ่งมีตั้งแต่ไม้สีอ่อน สีโทนแดง ไปจนถึงน้ำตาลช็อกโกแลต ลายไม้ที่ตรงสวยงาม และโทนเสียงที่มีความชัดเจน

  

Soundboard : Spruce


"Spruce"


"Master Grade German Spruce Top"



          Spruce คือไม้ที่นิยมใช้ทำเครื่องดนตรีมาแต่โบราณ โดยไม่เพียงแค่นำมาใช้ทำกีตาร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายหลากหลายชนิด เช่น ไวโอลิน หรือแม้แต่ Soundboard ของเปียโน

          ไม้ในหมวด Spruce มีอยู่หลายประเภท แบ่งตามต้นกำเนิดของไม้ เช่น German Spruce หรือ European Spruce ที่นิยมนำมาทำกีตาร์คลาสสิก หรือ Nylon String Guitar ทั้งนี้กีตาร์คุณภาพดีที่ใช้ German Spruce ในปัจจุบันจะค่อนข้างหายากแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นไม้จากประเทศอื่นในแถบยุโรปมากกว่า เช่นสวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี หรือยูโกสลาเวีย ดังนั้น German Spruce จึงมีราคาค่อนข้างสูง และลักษณะไม้จะมีสีออกเหลืองทองนิดๆ


"Italian Spruce Top"


          Alpine/Italian Spruce เป็นไม้ตระกูลเดียวกับ German Spruce แตกต่างกันที่แหล่งกำเนิดและสภาพแวดล้อมที่มา ตัวลายของเนื้อไม้จะออกชมพูจางๆ ในเรื่องของเสียงจะให้ความแข็งแรงและโน้ตที่คมชัด

          Carpathian Spruce มีแหล่งกำเนิดจากประเทศในแถบยุโรปตอนกลางและทางตะวันออก โทนสีจะออกขาวครีม และดูหยาบกว่า European Spruce ชนิดอื่นๆ Soundboard ที่ทำจากไม้ชนิดนี้จะค่อนข้างแข็ง แลดูสว่าง และมีความมันเงา


"Sitka Spruce Top"


           Sitka Spruce และ Engelmann Spruce เป็นไม้จากแถบอเมริกาและแคนาดา นิยมนำมาทำกีตาร์ประเภทสายเหล็ก หรือ Steel String Guitar โดย Engelmann Spruce จะได้รับความนิยมมากในระยะหลังมานี้ เนื่องจากช่างทำกีตาร์ที่เป็นที่รู้จักหลายคนเลือกใช้ไม้ชนิดนี้แทน German Spruce ด้วยความที่มีเอกลักษณ์คล้ายคลึงกันทั้งเรื่องโทนสี และการใช้งาน ในราคาที่ย่อมเยากว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีความแตกต่างกันในเรื่องของโทนเสียง

          Soundboard ที่ทำจาก Sitka Spruce จะขึ้นชื่อในเรื่องของความแข็งแรง ยืดหยุ่นและทนทาน เรียกได้ว่าทนมือคนเล่น จึงเหมาะกับกีตาร์สายเหล็ก เช่นกีตาร์อคูสติก และยังให้โทนสีค่อนข้างหลากหลาย ทั้งขาว ชมพู กระทั่งน้ำตาลอ่อน


"Hokkaido Spruce Top"


          Hokkaido Spruce ไม้สนอีกชนิดซึ่งเป็นที่นิยมของช่างทำกีตาร์ญี่ปุ่นในอดีต ซึ่งคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเรียกไม้ชนิดนี้ว่า “Ezo Spruce” ไม้ชนิดนี้จัดเป็นไม้ที่ถือเป็นญาติใกล้เคียงกับ Sitka Spruce โดยมีต้นกำเนิดอยู่ทางตอนเหนือของญี่ปุ่นและบนเทือกเขาบริเวณรอยต่อระหว่าง จีนและเกาหลีเหนือ ซึ่งปัจจุบันหาได้ค่อนข้างหายากแล้ว (โชคดีที่ผมมีเก็บไว้จำนวนหนึ่งครับ ^^) โดยเนื้อไม้ชนิดนี้จะมีสีเข้มกว่า German Spruce และมีลวดลายคล้ายคลึงกับ Sitka Spruce แต่จะมีโทนเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ คือให้ความแข็งแรง คมชัด และตอบสนองย่านเสียงแหลมได้ดี



Guitar Soundboard

Intro



          นอกเหนือจากเอกลักษณ์เฉพาะตัวในงานกีตาร์ของช่างแต่ละคน สิ่งสำคัญที่ทำให้กีตาร์ Handmade นั้นมีราคาสูงกว่ากีตาร์ที่ขายตามท้องตลาดทั่วไปก็คือ “ไม้” นั่นเอง โดยเฉพาะการเลือกไม้มาทำในส่วนของ Soundboard/Top หรือที่เรียกว่า “ไม้หน้า” ตัวกำเนิดเสียงซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของกีตาร์

          ส่วนใหญ่แล้วช่างทำกีตาร์จะเลือกเอาไม้เนื้ออ่อนมาทำ Soundboard โดยเฉพาะไม้จากประเทศที่มีอากาศหนาวจัด ซึ่งต้นไม้จะเจริญเติบโตได้ช้า เส้นวงปีก็จะถี่มาก ทำให้สามารถรับแรงและยืดหยุ่นได้ดี โดยไม้ที่นิยมนำมาใช้ทำกีตาร์จะเป็นไม้ตระกูลสน ซึ่งมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน