Categories

Sunday, December 11, 2016

Guitar Finishing : Oil Finish


“Oil Finish” 


          Oil Finish คือการใช้น้ำมันเคลือบผิวกีตาร์ ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยน้ำมันที่นำมาใช้ก็มีหลากหลายประเภท เช่น Tung oil, Linseed oil, Danish oil หรือ Teak oil เป็นต้น สำหรับวิธีการก็สามารถทำได้ทั้งการใช้ลูกประคบ หรือใช้แปรงทาก็ได้ สำหรับ Oil Finish นั้นพื้นฐานจริงๆคือการใช้น้ำมันเคลือบเป็นหลัก แต่อาจจะมีการผสมวัสดุชนิดอื่นๆลงไปในระหว่างการทำด้วยก็ได้ เช่น Nitrocellulose lacquer หรือ Polyurethane


Boiled linseed oil finish with French polish technique  :)


          ทั้งนี้ในปัจจุบันการเคลือบผิวด้วยน้ำมันนั้นไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากผิวที่เคลือบจะค่อนข้างบาง และง่ายต่อการสึกหรอ และยังจำเป็นต้องทำซ้ำเรื่อยๆ แต่ยังคงพบเห็นได้บ่อยในกีตาร์เบสไฟฟ้า หรือช่างทำกีตาร์บางคนก็ยังนิยมนำไปใช้เคลือบคอกีตาร์ไฟฟ้า หรือเคลือบทั้งตัวก็มีให้เห็นเช่นกัน เนื่องจาก Oil Finish จะให้ผิวสัมผัสที่เสมือนไม้จริง ความรู้สึกในการเล่นก็จะ smooth ไม่ฝืดเหมือนการเคลือบชนิดอื่นๆ



Guitar Finishing : Polyurethane


“Polyurethane” 


          โพลียูรีเทน เป็นอีกหนึ่งวิธีการเคลือบผิวที่ใช้ในอุตสาหกรรมการทำกีตาร์ทั่วไป โดยเฉพาะกีตาร์ไฟฟ้าและกีตาร์ Acoustic ที่ราคาไม่สูงนัก ด้วยเหตุผลที่การเคลือบด้วยวิธีนี้มีต้นทุนค่าแรงค่อนข้างต่ำ เพราะสามารถทำได้สะดวกรวดเร็ว ได้เนื้อสัมผัสที่แข็งซึ่งทนทานต่อรอยขีดข่วน ดังนั้นโพลียูรีเทนจึงเป็นที่นิยมกันมาก แม้แต่ช่างทำกีตาร์แฮนด์เมดบางคนก็ดึงเอาจุดเด่นของโพลียูรีเทนในเรื่องของความแข็งแรงทนทานมาใช้ในการเคลือบเฉพาะส่วนคอของกีตาร์ เพื่อให้ทนต่อการสึกหรอได้ดียิ่งขึ้น 


Sloughing : one of the problem from Poly finish  :(


          แต่ข้อดีของโพลียูรีเทนก็ถือเป็นข้อเสียใหญ่เช่นกัน ด้วยความที่ชั้นเคลือบค่อนข้างแข็งและหนามาก ช่างทำกีตาร์แฮนด์เมดส่วนใหญ่จึงหลีกเลี่ยงวิธีนี้ เพราะโพลียูรีเทนจะซับเสียง ทำให้ไม้สั่นสะเทือนได้ยากและไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น มากไปกว่านั้นโพลียูรีเทนยังไม่สามารถซึมเข้าไปในเนื้อไม้ได้เหมือนการเคลือบด้วยวิธีอื่นๆ เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ ชั้นฟิล์มหนาๆที่เคลือบทับผิวไม้เอาไว้จึงเกิดการหลุดลอก แลดูคล้ายกีตาร์ที่ขึ้นฝ้า หรือบางครั้งก็ล่อนออกมาเป็นแผ่นๆทีเดียว โดยเฉพาะในกีตาร์ Acoustic ที่ความชื้นสามารถผ่านเข้าออกได้ง่ายๆ นอกจากนี้กีตาร์ที่เคลือบด้วยโพลียูรีเทนเมื่อเกิดการสึกหรอ หลุดล่อนไปแล้ว จะซ่อมแซมให้เหมือนเดิมก็ลำบากเต็มที ดังนั้นอย่างที่กล่าวที่กล่าวไว้ข้างต้น จะเลือกวิธีการเคลือบแบบไหน ก็ดูให้เหมาะสมกับความต้องการและการใช้งานเป็นหลักนะครับ




Guitar Finishing : Varnish Finishing


“Varnish Finishing”


          Varnish เป็นวิธีการเคลือบผิวที่นิยมทำกันมาแต่โบราณ ปกติแล้วจะนิยมใช้กับเครื่องดนตรีตระกูลไวโอลิน โดยการเคลือบผิวแบบ Varnish จะมีส่วนผสมที่เป็นสูตรลับเฉพาะขึ้นอยู่กับช่างแต่ละคน ที่นิยมใช้กันก็จะมีทั้งเชลแลค ยางสน น้ำมัน Linseed น้ำมันวอลนัท หรือแอลกอฮอล์ เป็นต้น สำหรับวิธีการทำนั้นก็ขึ้นอยู่กับความถนัด จะใช้แปรงทา หรือใช้ลูกประคบเหมือน French Polish ก็ได้เช่นกัน



Apply my own varnish recipe by brush  :)

          ถึงแม้ว่าวิธีนี้จะไม่ค่อยได้รับความนิยมในหมู่ช่างทำกีตาร์ซักเท่าไหร่ แต่ก็เป็นวิธีที่ผมเลือกใช้เป็นหลักสำหรับกีตาร์ที่ผมทำครับ เนื่องจากการทำ Varnish นั้นจะทำให้ได้ลักษณะเสียงและรูปลักษณ์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือผิวสัมผัสที่เป็นธรรมชาติ คล้ายคลึงกับไม้ที่ไม่ได้ผ่านการเคลือบผิวแต่อย่างใด เสียงที่คล้ายกับการทำ French Polish และความทนทานต่อรอยขีดข่วน รวมทั้งอุณหภูมิและความชื้นก็จะคล้ายกับการใช้ไนโตรเซลลูโลสแลคเกอร์ครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในการทำ Varnish จะต้องอาศัยทักษะและความชำนาญ รวมทั้งความอดทนด้วย เพราะเมื่อเทียบกับการเคลือบผิวในแบบอื่นๆ Varnish จะใช้ระยะเวลาในการทำนานกว่า เนื่องจากการเคลือบผิวแบบนี้จะแห้งช้ามาก กว่าที่เสียงกีตาร์จะเปิดก็กินเวลาค่อนข้างนานทีเดียว แต่ผลลัพธ์ของมัน ทั้งความสวยงามและเสียงที่ได้ การันตีว่าคุ้มค่าการรอคอยจริงๆครับ




Guitar Finishing : Nitrocellulose lacquer


“Nitrocellulose lacquer”


          ไนโตรเซลลูโลส แลคเกอร์ เป็นอีกหนึ่งวิธีการเคลือบสีที่ใช้ทินเนอร์เป็นตัวทำละลาย ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆในแวดวงการทำกีตาร์ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานเล็กหรือใหญ่ จะมีชื่อเสียงมากน้อยแค่ไหน หรือแม้กระทั่งช่างทำกีตาร์แฮนด์เมด



Spray Gun for both Nitro and Poly finishes


          โดยแลคเกอร์ชนิดนี้เกิดจากการผสมผสานระหว่างไนโตรเซลลูโลส บวกด้วยเรซินตามสูตรของแต่ละยี่ห้อ และเจ้าไนโตรเซลลูโลสที่ว่านั้นก็คือแลคเกอร์ที่ใช้ทาเฟอร์นิเจอร์ทั่วไปซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายวัสดุก่อสร้าง วิธีใช้ก็จะมีทั้งการใช้กาพ่นสีแบบที่เราจะเห็นได้ตามอู่ซ่อมรถยนต์ หรือจะใช้แปรงทาเคลือบเอาก็ได้ตามแต่สะดวก ส่วนรูปร่างหน้าตาที่ออกมาภายหลังจากเคลือบเสร็จก็ดูไม่ต่างจากการทำ French Polish มากนัก แถมประหยัดเวลากว่าด้วย ช่างทำกีตาร์หลายคนจึงยังคงเลือกที่จะใช้วิธีนี้กัน ส่วนกีตาร์ที่ผลิตจากโรงงานก็จะใช้แลคเกอร์เคลือบในรุ่นที่มีราคาสูงหน่อย เนื่องจากว่าการพ่นแต่ละครั้งความหนาของเนื้อสีจะค่อนข้างบาง ไม่ดูหนาเตอะแบบการใช้ยูริเทน แต่ก็ยังไม่บางเท่า French Polish ที่ใช้เชลแลคในการเคลือบ สำหรับผลลัพธ์เรื่องเสียงนั้นจะดีมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับความหนาของการเคลือบในแต่ละชั้นนี่เอง

          การเคลือบด้วยไนโตรเซลลูโลสแลคเกอร์นั้นนอกจากจะใช้ระยะเวลาในการทำไม่มากแล้ว ยังมีข้อดีในเรื่องความแข็งของผิว ช่วยให้กีตาร์ทนทานต่อการขีดข่วนได้ดีในระดับหนึ่ง รวมถึงอุณหภูมิและสภาพความชื้นด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการใช้แลคเกอร์จะต้องทำในที่ที่มีการระบายและถ่ายเทอากาศได้ดี เพราะกระบวนการทำและสารที่นำมาใช้นั้นก่อให้เกิดมลพิษในอากาศ ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซักเท่าไหร่ ไนโตรเซลลูโลสแลคเกอร์จึงถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อมในบางรัฐของสหรัฐอเมริกา และบางประเทศในยุโรป